ThaiPublica > เกาะกระแส > กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 1) : รายได้ค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีโลกเฉลี่ย 30% แต่ AOT ไทยได้เฉลี่ย 17%

กรณีศึกษาร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย (ตอนที่ 1) : รายได้ค่าธรรมเนียมสัมปทานดิวตี้ฟรีโลกเฉลี่ย 30% แต่ AOT ไทยได้เฉลี่ย 17%

9 มีนาคม 2018


ตามที่สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าได้นำเสนอซีรีส์ “เจาะธุรกิจดิวตี้ฟรีไทย” มาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งมีธุรกิจที่ได้รับสัมปทานรายใหญ่เพียงรายเดียว และสัมปทานที่สนามบินสุวรรณภูมิจะครบสัญญาในปี 2563 โดยมีกระแสข่าวว่าจะมีการเปิดประมูลให้สัมปทานดิวตี้ฟรีสุวรรณภูมิเร็วๆ นี้ ล่าสุด สมาคมผู้ค้าปลีกไทยได้ออกรายงาน “การศึกษาธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรในไทย” โดยเป็นการศึกษาข้อมูลเชิงลึกที่รวบรวมจากแบบอย่างของการพัฒนาการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรหรือดิวตี้ฟรี และกระบวนการการจัดระเบียบการให้สัมปทานที่เป็นมาตรฐานสากล จากประเทศชั้นนำหลากหลายประเทศ (international best practice) รวมทั้งข้อเสนอแนะสรุปให้เห็นแนวทางการดำเนินธุรกิจร้านค้าปลอดภาษีอากรที่เหมาะสมสำหรับประเทศไทย

สนามบินสุวรรณภูมิ

รายงานระบุว่า เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวชั้นนำของโลก โดยมีผู้มาเยือนแบบค้างแรมมากกว่า 32 ล้านคน และ 40% ของนักท่องเที่ยวเหล่านี้เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศที่มีการใช้จ่ายสูง ในปี 2560 ที่ผ่านมา กรุงเทพมหานครมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศมาเยือนแบบค้างแรมถึงกว่า 21 ล้านคน ถูกจัดเป็นเมืองที่มีผู้มาเยือนมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับตลาดค้าปลีกด้านท่องเที่ยวชั้นนำที่มีการแข่งขันสูง ดังเช่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ และญี่ปุ่น จะเห็นได้ว่า ร้านค้าปลอดภาษีอากรประเทศไทยยังมีช่องว่างในการพัฒนาศักยภาพให้ทัดเทียมประเทศชั้นนำอื่นๆ โดยตลาดร้านปลอดภาษีของไทยในปัจจุบันยังไม่ได้ไปถึงศักยภาพสูงสุด

ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางชั้นนำของนักท่องเที่ยวจากทั่วโลก แต่สนามบินของไทยยังไม่ได้รับการจัดอันดับที่ดี ในปี 2560 สนามบินสุวรรณภูมิถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 38 จาก 100 อันดับของสนามบินจากทั่วโลก โดยมีคะแนนจากสกายแทร็ก (SkyTrak) อยู่ที่ 3.5/5 โดยเฉพาะอย่างยิ่งคะแนนที่เกี่ยวข้องกับการค้าปลีกของสนามบินสุวรรณภูมิต่ำกว่าสนามบินชั้นนำอื่นๆ ในภูมิภาคในเกือบทุกตัววัด

ธุรกิจค้าปลีกในสนามบินสุวรรณภูมิมีผลการประเมินที่ต่ำกว่าเกณฑ์ เห็นได้จากตัวชี้วัด อย่างเช่น ร้านค้าปลอดภาษีอากรมีกลุ่มสินค้าและจำนวนร้านค้าน้อย/แบรนด์หรูที่ไม่หลากหลาย ซึ่งอาจเป็นผลจากการขาดการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรม เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศที่ประสบความสำเร็จด้านการค้าปลีกในสนามบิน ได้แก่ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ฮ่องกง และสิงคโปร์ พบว่าประเทศเหล่านั้นมีผู้ประกอบการร้านค้าปลอดภาษีอากรจำนวน 10, 10, 7 และ 5 รายตามลำดับ

สนามบินแต่ละแห่งใช้ระบบ “สัมปทานตามกลุ่มสินค้า” ตรงกันข้ามกับ “สัมปทานรายใหญ่รายเดียว” ที่ประเทศไทยใช้อยู่ ขณะเดียวกัน อายุสัมปทานยังมีระยะเวลาสั้นกว่า โดยมีระยะเวลา 5-7 ปี ในขณะที่ประเทศไทยมีอายุสัมปทานถึง 10 ปี อีกทั้งค่าธรรมเนียมสัมปทานเฉลี่ยอยู่ที่กว่า 30% ในขณะที่สนามบินสุวรรณภูมิในประเทศไทยได้อยู่ที่เฉลียประมาณ 17% (ดูเพิ่มเติมรายได้ที่ AOT ได้รับจากสัญญาสัมปทาน)

ในกรณีสนามบินสุวรรณภูมิ เกณฑ์มาตรฐานและกระบวนการประเมินผลของการประกวดราคาการได้สิทธิสัมปทานก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ควรนำมาพิจารณาปรับปรุงแก้ไข โดยทั่วไปเกณฑ์มาตรฐานสากลมักกำหนดให้เกณฑ์การพิจารณาจากข้อเสนอทางธุรกิจมีน้ำหนักประมาณ 60% (แผนธุรกิจ การออกแบบ การดำเนินงาน ฯลฯ ) และข้อเสนอด้านราคา มีน้ำหนักประมาณ 40% (การรับประกันรายปีขั้นต่ำ, จำนวนร้อยละของค่าธรรมเนียมสัมปทาน) หรือบางประเทศมีการพิจารณาเป็น 2 ขั้นตอน คือ ถ้าผ่านการพิจารณาทางด้านธุรกิจ ก็จะใช้ข้อเสนอทางด้านราคาเป็นเกณฑ์เพียงด้านเดียว แต่สำหรับประเทศไทย ในรายงานได้ตั้งข้อสังเกตว่าสัมปทานฉบับใหม่อาจให้เกณฑ์การพิจารณาจากข้อเสนอทางธุรกิจมากถึง 80% และข้อเสนอด้านราคาเพียง 20%

อย่างไรก็ตาม รายงานนี้ตั้งข้อสังเกตอีกว่า โครงสร้างการบริหารท่าอากาศยาน (governance structure) ของประเทศไทยนั้นแตกต่างจากประเทศอื่นๆ ที่ให้อำนาจในการควบคุมดูแล/ตัดสินใจอย่างสมดุลระหว่างกระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานศุลกากร และผู้ให้บริการสนามบินเอง แต่ประเทศไทยมอบหมายให้การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยพิจารณาแต่เพียงลำพัง ดังนั้น เพื่อเป็นการเพิ่มรายได้จากการท่องเที่ยวของประเทศไทย การเปลี่ยนแปลงรูปแบบสัมปทานของไทยจากสัมปทานรายใหญ่รายเดียวเป็นสัมปทานตามกลุ่มสินค้าเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องนำไปสู่การพิจารณาอย่างยิ่ง

นอกจากนี้ อาจจะต้องมีการพิจารณาปรับเงื่อนไขระยะเวลาสัญญาของสัมปทานลงเพื่อให้ใกล้เคียงกับแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดคือ 5-7 ปี รวมถึงการพิจารณาปรับเพิ่มค่าธรรมเนียมสัมปทานให้สูงขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับค่าเฉลี่ยสากล ซึ่งจะส่งผลให้ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (AOT) ได้รับประโยชน์เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งเกณฑ์ในการพิจารณามอบสิทธิ์สัมปทาน ประเทศไทยก็ควรใช้เกณฑ์ปฏิบัติตามมาตรฐานสากล โดยให้น้ำหนักข้อเสนอการประเมินผลทางธุรกิจ (ด้านเทคนิค) และข้อเสนอด้านราคา (การรับประกันรายปีขั้นต่ำ, ส่วนแบ่งรายได้จากการขายสินค้า) แบ่งออกเป็น 60% และ 40% ตามลำดับ

ทั้งนี้ เพื่อให้มั่นใจว่าผู้ชนะการประมูลจะมีแผนธุรกิจที่ดี ท่าอากาศยานแห่งประเทศไทยสามารถใช้กระบวนการประเมินผล 2 ขั้นตอน คือ ผู้ประมูลที่ได้รับคะแนนมากกว่าเกณฑ์หรือผู้ที่ได้รับคะแนนสูงสุด 2-3 ลำดับแรกสำหรับข้อเสนอทางธุรกิจ จะผ่านสู่รอบต่อไปเพื่อพิจารณาข้อเสนอด้านราคาต่อไป

การสร้างโอกาสการแข่งขันที่สมดุลและเป็นธรรมในธุรกิจค้าปลีกท่องเที่ยว จะช่วยส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวโดยรวมให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นและจะนำพาประเทศไทยสู่แนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดตามมาตรฐานสากล ผลจากการศึกษาพบว่า หากประเทศไทยแก้ไขปรับปรุงพัฒนาตามแนวทางที่กล่าวข้างต้น ผลประโยชน์ที่ประเทศจะได้เพิ่มขึ้น มากถึง 1,500 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐหรือเกือบ 50,000 ล้านบาทต่อปี ผลประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นหลักๆ มาจาก

    1) แนวโน้มในการใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวต่อหัวเพิ่มขึ้น
    2) การเพิ่มขึ้นของจำนวนนักท่องเที่ยวเมื่อประเทศมี shopping tourism ที่โดดเด่น
    3) การจับจ่ายของคนไทยในต่างประเทศที่จะผันกลับมาสู่ประเทศไทย

กล่าวโดยสรุป การเสนอให้มีการปรับโครงสร้างการให้สัมปทานร้านค้าปลอดภาษีอากรและโครงสร้างหน่วยงานการกำกับดูแลพิจารณาเกณฑ์การให้สัมปทาน จะช่วยยกระดับอุตสาหกรรมค้าปลีกท่องเที่ยวของไทยสู่มาตรฐานใหม่ และจะทำให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวยอดนิยมระดับโลกมากยิ่งขึ้นไป

อ่านต่อตอนที่ 2 ดิวตี้ฟรีสนามบินสุวรรณภูมิอันดับต่ำกว่าสนามบินชั้นนำในภูมิภาคเกือบทุกเกณฑ์